Schmidt, Helmut (1918-)

นายเฮลมุท ชมิดท์ (พ.ศ. ๒๔๖๑-)

 เฮลมุท ชมิดท์เป็นนักการเมืองและรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๔-๑๙๘๒ ต่อจากวิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* เป็นรองหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๘๖ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Bundestag) หลายสมัย ทั้งยังได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๒ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๒-๑๙๗๔ ชมิดท์มีผลงานที่โดดเด่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเยอรมนีโนช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ และสานต่อการดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)* ของบรันดท์ที่ใช้กับสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ในขณะที่พยายามรักษาและกระชับความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกที่เป็นสมาชิกหลักขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* รวมทั้งให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศของยุโรปและกระบวนการบูรณาการยุโรปมาโดยตลอด

 ชมิดท์เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ในชุมชนผู้ใช้แรงงานแห่งเมืองอัมบูร์ก (Hamburg) บิดาซึ่งเป็นลูกนอกกฎหมายของนักธุรกิจชาวยิวมีอาชีพเป็นครูและเข้มงวดกวดขันในการเลี้ยงดูบุตรมาก เขาจึงได้รับการศึกษาอย่างดีมาแต่ต้นและเรียนรู้ภาษาอังกฤษจนพูดได้คล่องแคล่ว ทั้งยังมีความสามารถทางด้านดนตรีมาแต่เด็ก ในวัยเด็กชมิดท์มีความใฝ่ฝันที่จะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ อย่างมาก เขาเป็นเด็กคล่องแคล่วว่องไว สติปัญญา เฉียบแหลม มีความอดทน และขยันขันแข็ง เมื่อเขามีอายุ ๑๔ ปี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* แห่งพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* เริ่มก้าวขึ้นสู่อำนาจ และเมื่อเขามีอายุ ๑๖ หรือ ๑๗ ปี ฮิตเลอร์ก็ดำเนินนโยบายกำจัดยิวในเยอรมนีชมิดท์จึงเรียนรู้ว่าเขาต้องปกปิดประวัติครอบครัวของเขาอย่างมิดชิดโดยไม่ให้ทางการล่วงรู้ว่าปู่ของเขาเป็นยิวในช่วงนี้ชมิดท์ยังได้เข้าเป็นสมาชิกยุวชนฮิตเลอร์ (Hitler Youth)* ด้วย

 หลังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ชมิดท์ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารในกองทัพนาซีและเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เขาถูกส่งไปประจำการในหน่วยต่อต้านอากาศยานที่เมืองเฟเกซัค (Vegesack) ใกล้เมืองเบรเมิน (Bremen) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ขณะมียศเป็นร้อยโท ชมิดท์ถูกส่งไปรบในแนวรบด้านตะวันออกในช่วงเวลาสั้น ๆ และได้แสดงความสามารถในการร่วมโจมตีรัสเซีย ในปีเดียวกันเขาจึงได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก (Iron Cross) ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ชมิดท์ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับมาประจำกองทัพในเยอรมนีโดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นครูฝึกและที่ปรึกษาในกระทรวงกองทัพอากาศของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* จนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ หลังจากนั้นเขาถูกส่งไปรบในแนวรบด้านตะวันตก ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาถูกจับเป็นเชลยของกองทัพอังกฤษและถูกส่งตัวไปคุมขังในอังกฤษจนได้รับการปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ชมิดท์เข้าศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮัมบูร์กซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสเป็นศิษย์ของคาร์ล ชิลเลอร์ (Karl Schiller) นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของเยอรมนีตะวันตก การที่ชมิดท์สนใจการเมืองเป็นอย่างมากรวมทั้งได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดทางการเมืองจากเพื่อนเชลยศึกที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกันในระหว่างสงคราม เขาจึงเข้าสู่ชีวิตทางการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในปีเดียวกันนั้น และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๔๘ เขายังได้รับเลือกเป็นหัวหน้าขบวนการนักศึกษาสังคมนิยมเยอรมันของมหาวิทยาลัยชื่อ สหพันธ์นักศึกษาสังคมนิยมเยอรมันหรือเอสดีเอส (Federation of Socialist German Students-SDS) ซึ่งเป็นสาขาของพรรคเอสพีดีด้วย โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและการขนส่งในเมืองฮัมบูร์ก การทำงานทางด้านการเมืองในระหว่างที่ศึกษาอยู่นี้ทำให้ชมิดท์มีโอกาสรู้จักและติดต่อกับนักการเมืองที่มีชื่อเสียงระดับชาติและนานาชาติหลายคน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดีจากชิลเลอร์ซึ่งเป็นนักการเมืองสังคมนิยมเช่นเดียวกัน ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองของรัฐฮัมบูร์ก

 ชมิดท์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ และเข้ารับราชการในรัฐบาลรัฐฮัมบูร์กโดยได้รับแต่งตั้งให้ทำงานในกรมที่รับผิดชอบการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เขาก็ได้เป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเศรษฐกิจและการขนส่งของรัฐฮัมบูร์ก (Hamburg state Ministry for Economy and Transport) ที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของชิลเลอร์ ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ เขาลาออกจากราชการเพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในนามพรรคเอสพีดีและได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกระหว่างที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชมิดท์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐสภาหลายครั้ง เช่น ใน ค.ศ. ๑๙๕๗ เขาได้เป็นกรรมการบริหารของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเอสพีดีในรัฐสภา และในปีต่อมาได้เป็นกรรมการบริหารพรรคเอสพีดีในระดับชาติ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในด้านการทหารและกิจการด้านการขนส่งรวมทั้งมีความสามารถในการแสดงวาทะได้อย่างน่าสนใจและเฉียบคม ชมิดท์จึงได้รับยกย่องว่าเป็นตัวแทนของพรรคในรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่ง เขาสร้างชื่อเสียงจากการทำหน้าที่ฝ่ายค้านกล่าวโจมตีฟรันซ์ โยเซฟ ชเตราส์ (Franz Josef Strauss) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม “อย่างกัดไม่ปล่อย” ในช่วงก่อนที่พรรคเอสพีดีจะได้เข้าร่วมรัฐบาลอย่างได้ผลจนได้รับฉายาว่า “ชมิดท์-ชเนาเซอร์” (Schmidt-Schnauzer) นอกจากนี้ ในระยะเดียวกันเขายังเป็นกำลังสำคัญของพรรคเอสพีดีในการรณรงค์ต่อต้านและโจมตีการมีอาวุธนิวเคลียร์ของอภิมหาอำนาจทั้งสองรวมทั้งนโยบายการติดอาวุธในกองทัพเยอรมันตะวันตกของรัฐบาลคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* ในช่วงกลางทศวรรษ ๑๙๕๐ อย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ชมิดท์ก็ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อกลับมาทำงานให้รัฐบาลฮัมบูร์กเพียงอย่างเดียวอย่างเต็มที่

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑-๑๙๖๕ ชมิดท์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐบาลรัฐฮัมบูร์ก ความสามารถในการกำหนดทิศทางและวิธีการแก้ไขปัญหานํ้าท่วมครั้งใหญ่ในเมืองฮัมบูร์กซึ่งเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๖๒ ที่ได้คร่าชีวิตประชากรไปกว่า ๓๐๐ คนนั้น ทำให้ เขาได้รับยกย่องและมีชื่อเสียงในระดับชาติว่าเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการแก้ไขวิกฤติ ชมิดท์ใช้วิธีการทุกอย่างในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ทั้งโดยการใช้เครื่องมือทุกอย่างของรัฐฮัมบูร์กที่มีอยู่เพื่อระบายนั้าออกไปและขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหพันธ์ รวมทั้งใช้ตำรวจและกำลังทหารของกองทัพสหพันธ์โดยไม่สนใจต่อข้อห้ามของรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ไม่ให้ใช้กำลังกองทัพในกิจการภายในประเทศซึ่งรวมทั้งการต่อต้านภัยธรรมชาติด้วย โดยกล่าวอ้างว่าเขาไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใช้กำลังกองทัพ หากแต่เป็นผู้ออกคำสั่งให้มีการใช้กำลังกองทัพ อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เยอรมนีก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหพันธ์โดยให้มีการเพิ่มเติมข้อความในมาตราที่ห้ามการใช้กำลังกองทัพในกิจการภายในโดยให้ยกเว้นการต่อต้านภัยธรรมชาติ

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๔ ชมิดท์ได้กลับเข้ามาร่วมงานกับพรรคเอสพีดีที่กรุงบอนน์อีกครั้งเพื่อทำหน้าที่ช่วยรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีต่อมา และใน ค.ศ. ๑๙๖๕ เขาสมัครรับเลือกตั้งและได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง และดำรงตำแหน่งนี้มาจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๗ ในช่วงนี้เขายังได้รับเลือกจากพรรคให้เป็นหัวหน้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคในรัฐสภา และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ในปีเดียวกันเมื่อบรันด์จัดตั้งรัฐบาลผสมครั้งแรกระหว่างพรรคเอสพีดีกับพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือเอฟดีพี (Free Democratic Party-FDP) ชมิดท์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจนถึงกลาง ค.ศ. ๑๙๗๒ เขาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรกที่มาจากพรรคสังคมนิยมนับแต่ ค.ศ. ๑๙๒๐ เป็นต้นมา และระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๗๒ เขายังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังสืบต่อจากชิลเลอร์ ก่อนจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งแยกออกมาจากกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๒

 ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ หลังบรันดท์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วชมิดท์ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๕ ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การเข้าดำรงตำแหน่งของเขาแตกต่างจากบรันดท์และแกร์อาร์ด ชโรเดอร์ (Gerhard Schröder) ที่เป็นหัวหน้าพรรคมาก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น เขายังได้รับเลือกตั้งอีก ๒ ครั้งใน ค.ศ. ๑๙๗๖ และ ๑๙๘๐ ในด้านกิจการภายในประเทศชมิดท์ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับยกย่องว่าสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๗๓ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขึ้นราคานํ้ามันของกลุ่มโอเปก (OPEC) หลังสงครามอิสราเอล-อาหรับในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้เยอรมนีตะวันตกสามารถคงค่าเงินมาร์คไว้ได้อย่างมั่นคง ทั้งยังทำให้อัตราการว่างงานลดลงได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ชมิดท์ยังส่งเสริมให้มีการขยายอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางซึ่งทำให้เยอรมนีตะวันตกมีสถานะเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของยุโรปภายในทศวรรษ ๑๙๗๐

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ชมิดท์ยังได้ร่วมมือกับประธานาธิบดีวาเลรี ชีสการ์ เดสแตง (Valéry Giscard d’Estaing)* แห่งฝรั่งเศสริเริ่มให้มีการจัดการประชุมสุดยอดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ๖ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี และญี่ปุ่น ขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองรองบุยเย (Rambouillet) ในฝรั่งเศสเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร่วมกัน การประชุมดังกล่าวมีความสำคัญมากเพราะเป็นที่มาของการประชุมสุดยอดของกลุ่มจี ๗ และจี ๘ (G7/G8 Group) ในเวลาต่อมา ความสามารถทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองของชมิดท์ทั้งในและนอกประเทศทำให้สถานะของเยอรมนีตะวันตกที่หลายคนเคยให้ฉายาว่าเป็น “ยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจแต่เป็นคนแคระทางการเมือง” ต้องเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้ชมิดท์ได้รับความนิยมภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นซึ่งมีผลทำให้พรรคเอสพีดีชนะการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๗๖ และเขาก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒

 ในด้านการบูรณาการยุโรป ชมิดท์ก็สามารถสร้างความร่วมมือกับประธานาธิบดีชีสการ์ เดสแตงได้เป็นอย่างดีทำให้กระบวนการบูรณาการของประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community-EC)* ก้าวหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. ๑๙๗๘ บุคคลทั้งสองได้ร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้งระบบการเงินยุโรปหรืออีเอ็มเอส (European Monetary System-EMS) ขึ้นภายในประชาคมยุโรปตามที่เซอร์รอย เจงกินส์ (Roy Jenkins)* ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้เสนอไว้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๗ ระบบดังกล่าวนอกจากเป็นองค์ประกอบสำคัญของสหภาพเศรษฐกิจการเงินยุโรปหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union-EMU) ที่ประชาคมยุโรปจัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมาแล้วยังมีประโยชน์ต่อการรักษาค่าเงินของประเทศภาคีสมาชิกและเยอรมนีตะวันตกด้วย นอกจากนี้ เขายังเสนอให้มีการปฏิรูประบบงบประมาณของอีซีเพื่อแก้ไขปัญหาเงินอุดหนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายนโยบายร่วมด้านการเกษตร (Common Agricultural Policy-CAP) ที่อังกฤษโต้แย้งและขอลดหย่อนมาตั้งแต่กลางทศวรรษ ๑๙๗๐

 ชมิดท์ได้ชื่อว่าเป็นนักแอตแลนติกนิยม (Atlan-ticist) ที่เข้มแข็งและเชื่อมั่นผู้หนึ่ง ในช่วงสมัยที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เยอรมนีตะวันตกกระชับความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรแอตแลนติกโดยเฉพาะมหาอำนาจหลักมากขึ้น ชมิดท์สนับสนุนการดำเนินนโยบาย ๒ ทาง (dual-track policy) ของนาโตตามที่ได้เสนอไว้ในรายงานฮาร์เมิล (Harmel Report) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๘ อย่างแข็งขัน รายงานดังกล่าวเรียกร้องให้ฝ่ายตะวันตกจัดระบบการป้องกันประเทศอย่างเข้มแข็งพร้อม ๆ กับแสวงหาวิธีผ่อนคลายความตึงเครียดกับฝ่ายตะวันออกในสงครามเย็น (Cold War)* ในขณะเดียวกันชมิดท์ก็สานต่อนโยบายมุ่งตะวันออกกับสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกที่ได้เริ่มไว้ในสมัยบรันดท์อย่างต่อเนื่องทั้งยังได้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียต โปแลนด์ และเยอรมนีตะวันออกด้วย ชมิดท์เป็นผู้นำเยอรมนีตะวันตกคนแรกที่เดินทางไปเยือนเยอรมนีตะวันออกอย่างเป็นทางการ การดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองและการค้าระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับยุโรปตะวันออกดีขึ้นมาก นอกจากนี้ เขายังให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับประเทศฝ่ายตะวันตกและตะวันออกที่เข้าร่วมการประชุมเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปหรือซีเอสซีอี (Conference on Security and Cooperation in Europe-CSCE)* ที่กรุงเฮลซิงกิ (Helsinki) ฟินแลนด์ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ทั้งยังเป็นผู้แทนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในการลงนามร่วมกับผู้นำและประมุขประเทศต่าง ๆ ในข้อตกลงเฮลซิงกิ (Helsinki Agreement)* และในกรรมสารสุดท้ายเฮลซิงกิ (Final Act of Helsinki) ในตอนท้ายของการประชุมเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๕ ด้วย สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างตะวันตกกับตะวันออกที่มีความสำคัญมากรวมทั้งเป็นที่มาขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปหรือโอเอสซีอี (Organization for Security and Cooperation in Europe-OSCE) ที่สถาปนาขึ้นในทศวรรษ ๑๙๙๐ นับว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนเสริมสร้างสันติภาพและการผ่อนคลายความตึงเครียดในยุโรป รวมทั้งสามารถนำเยอรมนีตะวันตกไปสู่แถวหน้าของยุโรปในฐานะมหาอำนาจหลักเคียงบ่าเคียงไหล่กับฝรั่งเศสและอังกฤษ

 ใน ค.ศ. ๑๙๗๗ ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายรุนแรงที่เรียกกันว่า “ฤดูใบไม้ร่วงเยอรมัน” (German Autumn) ชี่งผู้ก่อการร้ายได้จี้เครื่องบินโดยสารของสายการบินลุฟฮันซา (Lufthansa) ของเยอรมนีตะวันตกและมีการสังหารหัวหน้าสหภาพแรงงานเยอรมันอย่างอุกอาจและเหี้ยมโหด แม้ว่าชมิดท์ได้จัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มแข็งและเด็ดขาดจนเหตุการณ์ยุติลงได้และความนิยมในตัวเขาเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม แต่ต่อมาไม่นาน เขาก็เริ่มประสบปัญหาทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศเนื่องจากข้อเสนอแนะของเขาที่อนุญาตให้นาโตติดตั้งฐานทัพติดจรวดนิวเคลียร์พิสัยกลางหรือไอเอ็นเอฟ (Intermediaterange Nuclear Missiles-INF) ในดินแดนเยอรมนีตะวันตกเพื่อตอบโต้การรุกรานของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๗๙ ตามรายงานของฮาร์เมิลได้กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาสูญเสียเสียงสนับสนุนภายในพรรคของเขาเองโดยเฉพาะจากสมาชิกฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงและจากฝ่ายค้านกลุ่มอื่น ๆ เช่น พรรคกรีนส์ (Greens) ซึ่งโจมตีนโยบายของเขาอย่างต่อเนื่องในขณะเดียวกันการบุกโจมตีอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ ซึ่งทำให้เกิดสงครามเย็นในรอบใหม่ขึ้นก็มีท่าทีว่าจะมีผลกระทบในทางลบต่อการดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออกของเยอรมนีตะวันตกชมิดท์จึงแสดงความเป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยเดินทางไปเจรจาเรื่องการซื้อก๊าซธรรมชาติจากสหภาพโซเวียตโดยสร้างท่อขนส่งระหว่างยุโรปตะวันตกกับไซบีเรีย ทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในช่วงนี้เสื่อมโทรมลง เพราะสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวและแสดงท่าทีประท้วง

 แม้ว่าชมิดท์จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๘๐ ก็ตาม แต่รัฐบาลผสมของเขาก็อ่อนแอเนื่องจากพรรคเอสพีดีและพรรคเอฟดีพีมีความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของประเทศจนทำให้พรรคเอฟดีพีซึ่งถึงแม้จะเป็นพรรคเล็กแต่ก็เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมของเยอรมนีตะวันตกแทบทุกสมัยผละออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลผสมของชมิดท์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๘๒ และหันไปเป็นพันธมิตรกับพรรคคริสเตียนเดโมแครตหรือซีดียู (Christian Democratic Party-CDU) ที่มีเฮลมุท โคล (Helmut Kohl)* เป็นหัวหน้าทำให้พรรคเอสพีดีอ่อนแอยิ่งขึ้น หลังการแยกตัวของพรรคเอฟดีพีชมิดท์ก็ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนฮันส์-ดีทรีชท์ เกนเชอร์ (Hans-Dietricht Genscher) หัวหน้าพรรคเอฟดีพีซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาแต่ต้นอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่เขาและพรรคเอสพีดีก็ยังต้องเผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงของพรรคฝ่ายค้านในปัญหาอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและพรรคเอสพีดีในรัฐสภา แม้ว่าชมิดท์และพรรคจะต่อสู้อย่างเต็มความสามารถ แต่ในที่สุดในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ เขาก็ถูกบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังแพ้การออกเสียงอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ดี ชมิดท์ก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๖

 แม้ว่าชมิดท์จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เขาก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดผู้หนึ่งของเยอรมนีตะวันตกและบ้างก็กล่าวว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุด ความสามารถในการดำเนินนโยบายภายในและต่างประเทศของชมิดท์รวมทั้งคุณสมบัติในการเป็นผู้นำและการจัดการแก้ไขวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้ช่วยทำให้เยอรมนีมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในตนเองมากขึ้น ความเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับการจัดการทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การป้องกันประเทศ และการดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการคํ้าประกันเสถียรภาพและความมั่นคงของเยอรมนีตะวันตกในทศวรรษ ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ ทั้งยังทำให้เยอรมนีตะวันตกได้รับการยอมรับในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่มั่นคงและพึ่งพาได้ประเทศหนึ่งของยุโรปตะวันตก

 หลังพันจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ใน ค.ศ. ๑๙๘๓ ชมิดท์ก็หันมาประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์โดยทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการร่วมของ Die Zeit นิตยสารรายสัปดาห์ที่มีชื่อเสียงซึ่งเน้นการเสนอเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองและได้รับการยอมรับมากที่สุดฉบับหนึ่งของเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ชมิดท์ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ของนิตยสารฉบับนี้นอกจากเขียนบทความและบทวิจารณ์ให้แก่นิตยสาร Die Zeit แล้ว เขายังมีบทบาทในกิจการระหว่างประเทศโดยทางอ้อมในด้านอื่น ๆ อย่างแข็งขัน เช่น ใน ค.ศ. ๑๙๘๓ เขาร่วมมือกับฟุกุดะ ทะเกะโอะ (Fukuda Takeo) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจัดตั้งสภาดำเนินการระหว่างประเทศ (Inter-Action Council) ขึ้นเพื่อใช้เป็นเวทีกลางของอดีตผู้นำประเทศต่าง ๆ ในการพบปะหารือระหว่างกันอย่างไม่เป็นทางการ และใน ค.ศ. ๑๙๘๖ เขาได้ร่วมมือกับอดีตประธานาธิบดีชีสการ์ เดสแตงจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสหภาพการเงินยุโรป (Committee for European Monetary Union) พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี (European Central Bank-ECB) อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงินยุโรปขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

 ชมิดท์ยังได้ชื่อว่าเป็นนักวิจารณ์เศรษฐกิจและการเมืองที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับผู้หนึ่ง ใน ค.ศ. ๒๐๐๓ เขาเขียนบทความลงนิตยสาร Die Zeit สนับสนุนความพยายามของนายกรัฐมนตรีชโรเดอร์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมของเยอรมนี การลดภาระของผู้ประกอบการที่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการว่างงานที่มีอัตราสูงและเป็นปัญหาอันเร่งด่วนของประเทศ ตลอดจนความพยายามที่จะเพิ่มอัตราการผลิตในเยอรมนีตะวันออก ในการนี้เขาสนับสนุนการเพิ่มเงินกู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อนำไปใช้ในการแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนั้น ในขณะเดียวกัน ชมิดท์ก็ไม่เห็นด้วยกับการคืนอำนาจทางการคลังให้แก่รัฐต่าง ๆ ในระบบสหพันธ์ซึ่งสูญเสียไปในช่วงปฏิรูปการคลัง ค.ศ. ๑๙๖๘ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๗ ชมิดท์ยังได้เขียนบทความลงนิตยสารฉบับเดียวกันนี้วิจารณ์สหรัฐอเมริกาว่าเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลกมากกว่ารัสเซียโดยให้เหตุผลว่านับแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นรัสเซียไม่ได้โจมตีเพื่อนบ้าน ทั้งยังแสดงความประหลาดใจว่ารัสเซียได้ยอมให้ยูเครน (Ukraine) รวมทั้งรัฐอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสหภาพโซเวียตได้เอกราชโดยสันติ และที่สำคัญก็คือข้อความที่เขาวิจารณ์การโจมตีอิรักของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบีลยู. บุช (George W. Bush) ว่าเป็น “สงครามที่เลือกให้เกิดไม่ใช่สงครามที่เกิดจากความจำเป็น” (a war of choice, not a war of necessity)

 ในช่วงที่ชมิดท์ทำงานทางด้านการเมือง เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติและรางวัลเกียรติยศจากองค์กรต่าง ๆ มากมาย เช่น ใน ค.ศ. ๑๙๗๕ หนังสือ Financial Times ได้ยกย่องให้เขาเป็นบุคคลแห่งปี (Man of the Year) ใน ค.ศ. ๑๙๗๗ เขาได้รับรางวัลทีโอดอร์-เฮิสส์ (Theodor-Heuss Prize) ที่ให้แก่ผู้มีความสามารถในด้านการบริหารประเทศ และใน ค.ศ. ๑๙๘๐ เขาได้รับเหรียญนาฮุมโกลด์แมน (Nahum Goldmann Medal) จากสภายิวโลก (World Jewish Congress) ซึ่งให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านการส่งเสริมสันติภาพและสิทธิมนุษยชน แม้ว่าเขาจะเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากชาวยิวอย่างรุนแรงในกรณีที่เขากล่าวว่าปาเลสไตน์ (Palestine) ควรได้รับการขอโทษจากอิสราเอลที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตกให้เข้าไปจัดตั้งประเทศในดินแดนปาเลสไตน์ภายหลังการขับไล่ยิวครั้งใหญ่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ตาม นอกจากนี้ ชมิดท์ยังได้รับยกย่องให้เป็นพลเมืองเกียรติยศแห่งรัฐฮัมบูร์กใน ค.ศ. ๑๙๘๓ และเบอร์ลิน ค.ศ. ๑๙๘๙ รวมทั้งรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Schleswig-Holstein) ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ด้วย นอกจากนี้ เขายังมีผลงานเขียนเกี่ยวกับการป้องกันประเทศการเมือง ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายเรื่อง งานเขียนที่มีชื่อเสียงของชมิดท์ ได้แก่ The Balance of Power: Germany’s Peace Policy and the Super Powers (ค.ศ. ๑๙๗๑) A Grand Strategy for the West: The Anachronism of National Strategies in an Interdependent World (ค.ศ. ๑๙๘๕) และ Men and Powers: A Political Retrospective (ค.ศ. ๑๙๘๙)

 ในด้านชีวิตส่วนตัว ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ชมิดท์สมรสกับฮันเนอลอเรอ “โลกิ” กลาเซอร์ (Hannelore “Loki” Glaser) ซึ่งเป็นคู่รักกันมาแต่วัยรุ่น ภรรยาของเขามีอาชีพเป็นครู ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ เฮลมุท วัลเทอร์ (Helmut Walter) ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis) ตั้งแต่อายุเพียง ๑ ขวบ และซูซานเนอ (Susanne) ซึ่งทำงานให้กับบริษัทโทรทัศน์บลูมเบิร์ก (Bloomberg Television) ในกรุงลอนดอน นอกเหนือจากความสามารถในด้านอื่นแล้ว ชมิดท์ยังเป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์โดยเฉพาะการเล่นเปียโน เขาเคยแสดงเปียโน คอนแชร์โต (concerto) โดยเล่นเพลงของโมซาร์ท (Mozart) และบาค (Bach) ร่วมกับคริสทอฟ เอสเชนบัค (Christoph Eschenbach) นักเปียโนและวาทยกรที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี.



คำตั้ง
Schmidt, Helmut
คำเทียบ
นายเฮลมุท ชมิดท์
คำสำคัญ
- กระบวนการบูรณาการยุโรป
- การผ่อนคลายความตึงเครียด
- ข้อตกลงเฮลซิงกิ
- คณะกรรมการเพื่อสหภาพการเงินยุโรป
- คณะกรรมาธิการยุโรป
- โคล, เฮลมุท
- เจงกินส์, เซอร์รอย
- ชมิดท์, เฮลมุท
- ชิลเลอร์, คาร์ล
- ชีสการ์ เดสแตง, วาเลรี
- ธนาคารกลางยุโรป
- นโยบายมุ่งตะวันออก
- นโยบายร่วมด้านการเกษตร
- นักแอตแลนติกนิยม
- พรรคคริสเตียนเดโมแครต
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคเสรีประชาธิปไตย
- พรรคเสรีประชาธิปไตยหรือเอฟดีพี
- ยุวชนฮิตเลอร์
- ยูเครน
- เยอรมนีตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก
- ระบบการเงินยุโรปหรืออีเอ็มเอส
- รัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์
- รายงานฮาร์เมิล
- ฤดูใบไม้ร่วงเยอรมัน
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภายิวโลก
- สหภาพเศรษฐกิจการเงินยุโรปหรืออีเอ็มยู
- องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปหรือโอเอสซีอี
- อาเดเนาร์, คอนราด
- เอสดี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1918-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๑-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลจรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-